เครื่องประดับเป็นสิ่งหนึ่งในกระแสวัฒนธรรมที่ใช้ควบคู่มากับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอื่นๆ


17

ในสมัยโบราณการตกแต่งร่างกาย ใช้วิธีสักร่างกาย หรือใช้สีเขียนบนผิวหนัง การเขียนสีบนผิวหนังพบครั้งแรกในสมัยอียิปต์ เมื่อประมาณ 2000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช คำว่า “สัก” ในภาษาไทย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Tattoo และคำว่า Tattoo มาจากภาษาไฮติว่า Tatau ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับ การทำเครื่องหมาย ส่วนการแต่งกายด้วยวัตถุ มีการตกแต่งด้วยทองคำ พบหลักฐานการใช้ทองคำมาทำเป็นเครื่องประดับ ในสมัยอียิปต์ และกรีกโบราณ เครื่องประดับเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถบอกประวัติความเป็นไปในสมัยประวัติศาสตร์ได้ เป็นสื่อสัญลักษณ์ที่บอกถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม นิสัยใจคอของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลป์จึงนิยมที่จะศึกษาเรื่องราวของเครื่องประดับร่วมไปด้วยเพราะเครื่องประดับนอกจากจะใช้ประดับร่างกายเพื่อความสวยงามแล้วยังบอกตำแหน่ง ฐานะ ยศศักดิ์ได้ เช่น ชาวอเมริกันอินเดียนที่อยู่ตามเผ่าต่างๆ จะใช้สีหรือขนนกประดับประดาร่างกายและสีหรือขนนกนี้จะบอกตำแหน่งของผู้ใช้ ในขณะเดียวกันเครื่องประดับยังบอกฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของได้อีกด้วย

เครื่องประดับของประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถูกสร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่เพื่อแสดงทักษะฝีมืออันวิจิตร หรือเพื่อตกแต่งร่างกายภายนอกเท่านั้น ตามหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาเกี่ยวกับศิลปะเครื่องประดับ พอจะสรุปได้ว่า เครื่องประดับเป็นวิธีการแรกๆ ที่มนุษย์ใช้ในการแสดงออกทางสุนทรีภาพ และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง ชุมชน และสภาพแวดล้อมเครื่องประดับแต่เดิมมีคำศัพท์ที่แยกประเภทเครื่องประดับอยู่ 2คำ คือ ศิราภรณ์ หมายถึงเครื่องประดับศีรษะ และถนิมพิมพาภรณ์ คือเครื่องประดับกาย แต่ในปัจจุบันมักใช้คำกลาง ๆ คือคำว่า เครื่องประดับ ไม่ได้แยกเรื่องเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากกรณีที่ต้องการชี้เฉพาะเจาะจง ประวัติศาสตร์เครื่องประดับของไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 50,000 – 1,700 ปีมาแล้ว สมัยก่อนประวัติศาสตร์การค้นพบที่เก่าแก่ดังกล่าวระบุว่ามีการขุดพบสร้อยคอและกำไลที่ทำจากเปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์อยู่ภายในหลุมศพของทั้งมนุษย์ผู้ชายและผู้หญิง ส่วนเหตุผลที่เครื่องประดับมักจะถูกสวมใส่ หรือติดมาพร้อมกับโครงกระดูกในหลุมฝังศพนั้น นักมานุษยวิทยาทางวัฒนธรรมตั้งประเด็นว่า สังคมในยุคนั้นเชื่อว่าความตายอาจเป็นการสืบเนื่องของชีวิตอย่างหนึ่ง คล้ายกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ (ศาสนาพุทธซึ่งเกิดในภายหลังได้รับอิทธิพลจากความเชื่อนี้ติดมาด้วย) ที่ว่า ผู้ที่ตายไปแล้ววิญญาณจะมีการเกิดใหม่ เครื่องประดับจึงน่าจะเป็นวัตถุที่สามารถติดตามบุคคลที่ล่วงลับไป เพื่อทำหน้าที่รับใช้บุคคลนั้นต่อไปในโลกข้างหน้านั่นเอง